หน้าหลักผลิตภัณฑ์
งานบริการ
การเลือกซื้อเครื่องปรับอากาศ
เกี่ยวกับบริษัท
ติดต่อบริษัท
English Page
สอบถามโทร 055-642177
"การเลือกซื้อเครื่องปรับอากาศในปัจจุบัน นอกจากเลือกซื้อยี่ห้อที่ถูกใจแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ลูกค้าต้องตัดสินใจคือ ชนิดและขนาดของเครื่องปรับอากาศที่เหมาะสมกับสถานที่และการใช้งาน"
รู้จักเครื่องปรับอากาศชนิดต่างๆ
แบบติดผนัง (Wall Type)
เป็นเครื่องปรับอากาศที่มีรูปแบบเล็กกะทัดรัด เหมาะสำหรับห้องที่มีพื้นที่น้อย เช่น ห้องนอน ห้องรับแขกขนาดเล็ก
ข้อดี: ราคาถูก ได้รับความนิยมสูง มีรูปแบบที่ทันสมัย มีให้เลือกหลากหลาย การทำงานเงียบ และง่ายต่อการติดตั้งและซ่อมบำรุง
ข้อเสีย: ไม่เหมาะกับงานหนัก เนื่องจากคอยล์เย็นมีขนาดเล็ก ส่งผลให้คอยล์สกปรก และอุดตันง่ายกว่าคอยล์ที่มีขนาดใหญ่กว่า
แบบตั้ง/แขวน (Ceiling/floor type)
เป็นเครื่องปรับอากาศที่เหมาะสำหรับห้องที่มีพื้นที่ตั้งแต่เล็ก เช่น ห้องนอน ไปจนถึงห้องที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ เช่น สำนักงาน ร้านอาหาร ห้องประชุม
ข้อดี: ลูกค้าสามารถเลือกว่าติดตั้งแบบตั้งพื้นหรือแขวนเพดานก็ได้ การออกแบบเครื่องปรับอากาศใช้งานได้หลากหลาย เข้าได้กับทุกสถานที่ มีระบายลมดี สามารถส่งลมได้ไกลโดยเฉพาะอย่างยิ่งในห้องที่มีลักษณะยาว
ข้อเสีย: ไม่มีรูปแบบให้เลือกมากนัก
แบบเคลื่อนที่ได้ ( Movable type)
เป็นเครื่องปรับอากาศที่ไม่ต้องทำการติดตั้ง และสามารถเข็นไปใช้ได้ทุกพื้นที่ พูดง่ายๆก็คือสามารถเสียบปลั๊กใช้ได้เลย
ข้อดี: ขนาดกะทัดรัด ไม่ต้องติดตั้ง สามารถเข็นไปได้ใช้ได้ทุกพื้นที่ ทั้งในห้อง และที่โล่งกลางกลางแจ้ง
ข้อเสีย: ใช้ได้แต่กับห้องขนาดเล็ก กินไฟและมีประสิทธิภาพการทำความเย็นต่ำกว่า ไม่แนะนำให้ใช้เป็นเครื่องปรับอากาศหลักในห้องที่อยู่ประจำ
แบบฝังเพดาน ( Built-in type)
เป็นเครื่องปรับอากาศที่เน้นความสวยงามโดยการซ่อน หรือฝังอยู่ใต้ฝ้าหรือเพดานห้อง เหมาะกับห้องที่ต้องการเน้นความสวยงาม โดยที่ต้องการให้เห็นเครื่องปรับอากาศน้อยที่สุด
ข้อดี: สวยงาม โดยสามารถทำตู้ซ่อนหรือฝังเรียบไว้บนเพดานห้อง
ข้อเสีย: ราคาสูงกว่า ติดตั้งยากเนื่องจากต้องทำการฝังเข้าตู้หรือเพดานห้อง และการดูแลรักษาทำได้ไม่ค่อยสะดวก
แบบตู้ตั้ง ( Package type)
เป็นเครื่องปรับอากาศ ที่มีลักษณะคล้ายตู้ มีขนาดสูง และมีกำลังลมที่แรง เหมาะกับบริเวณที่มีคนเข้าออกอยู่ตลอดเวลา เช่น ร้านค้า ร้านอาหาร
ข้อดี: ติดตั้งง่าย โดยสามารถตั้งกับพื้นได้เลย ไม่ต้องทำการยึด และทำความเย็นได้เร็วเนื่องจากมีเส้นผ่านศูนย์กลางใบพัดลมที่ใหญ่ ซึ่งให้กำลังลมที่แรงกว่า
ข้อเสีย: เนื่องจากต้องวางบนพื้น จึงทำให้เสียพื้นที่ใช้สอยในห้อง
ระบบปรับอากาศแบบรวม
เป็นระบบปรับอากาศทั้งอาคาร มีค่าใช้จ่ายในการออกแบบและติดตั้งสูง แต่ระบบจะมีประสิทธิภาพกว่าทั้งในด้านการใช้งาน และการประหยัดพลังงาน ระบบนี้ถูกใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมหรืออาคารสำนักงานขนาดใหญ่ ในการติดตั้งระบบปรับอากาศชนิดนี้ จำเป็นต้องมีการออกแบบควบคู่ไปกับงานวิศวกรรมก่อสร้างอาคาร
เลือกขนาดทำความเย็น (BTU)
การบอกขนาดทำความเย็นของเครื่องปรับอากาศแต่ละชนิด ในประเทศไทยจะใช้หน่วย BTU หรือ British Thermal Unit ต่อชั่วโมงที่สามารถทำความเย็นได้
ทำไมต้องคำนึงถึง BTU ทุกครั้งที่ซื้อแอร์?
BTU เป็นสิ่งที่ต้องเลือกให้เหมาะสมกับขนาด ตำแหน่ง ลักษณะ และการใช้งานของห้อง
เลือกแอร์ขนาด BTU ใหญ่ไป :
คอมเพรสเซอร์จะทำงานและตัดบ่อยเกินไป ทำให้อายุการใช้งานแอร์ลดลง และทำให้ความชื้นในห้องสูง ผู้ใช้งานจะรู้สึกไม่สบายตัวและที่สำคัญราคาแอร์สูงกว่า และสิ้นเปลื้องพลังงานโดยใช่เหตุ
เลือกแอร์ขนาด BTU เล็กไป :
คอมเพรสเซอร์จะทำงานติดต่อกันเป็นเวลานานเกินสมควร เพราะแอร์เล็กกว่าขนาดห้อง ต้องใช้เวลานานกว่าจะทำความเย็นห้องให้ได้ตามอุณหภูมิที่ตั้งไว้ สิ้นเปลื้องพลังงานและทำให้อายุการใช้งานแอร์สั้นลงเช่นกัน
วิธีการคำนวน BTU
ขั้นตอนที่ 1
คำนวนพื้นที่ห้อง เป็นตารางเมตร
โดย
พื้นที่ห้อง(ตารางเมตร) = ความกว้าง(เมตร) x ความยาว(เมตร)
ขั้นตอนที่ 2
นำพื้นที่ห้องจากขั้นตอนที่ 1 มาคูณด้วย
ค่าตัวแปร
จะได้เป็นขนาด BTU ของแอร์ที่ควรจะใช้
ตัวแปร BTU
700-800 สำหรับห้องนอน ห้องที่มีความร้อนน้อย โดนแดดน้อย หรือห้องที่ใช้แอร์ช่วงกลางคืน
800-900 สำหรับห้องนั่งเล่น ห้องที่มีความร้อนปานกลาง รับแดดพอสมควร หรือห้องที่มักใช้แอร์ช่วงกลางวัน
900-1000 สำหรับห้องทำงาน ห้องออกกำลังกาย ห้องโดนแดดมาก หรือห้องที่มีความร้อนมาก
1000-1200 สำหรับร้านค้า ห้องประชุม ร้านอาหารที่เปิดปิดประตูบ่อย หรือสำนักงานที่มีคนอยู่จำนวนมาก
ข้อควรคำนึงเพิ่มเติม
1. จำนวนและขนาดของหน้าต่างและประตูในห้อง
2. ทิศที่แดดส่องหรือทิศที่ตั้งของห้อง
3. วัสดุหลังคามีฉนวนกันความร้อนหรือไม่
4. จำนวนคนทีใช้งานในห้อง
5. จำนวน และประเภทของเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆภายในห้อง เช่นคอมพิวเตอร์ เครื่องเซิฟเวอร์ หรือไดร์เป่าผม ที่ทำให้เกิดความร้อนภายในห้อง
ตัวอย่างการคำนวน
: สมชายต้องการติดแอร์ห้องนอน ขนาด 4 เมตร x 4 เมตร โดยห้องอยู่ในทิศตะวันตก
การคำนวน : ขั้นตอนที่ 1 หาขนาดห้อง 4x4 = 16 ตร.ม.
ขั้นตอนที่ 2 เนื่องจากเป็นห้องนอน รับแดดตอนเย็นก่อนเปิดใช้งาน ควรใช้ค่าตัวแปรประมาณ 800 คำนวนขนาดแอร์ จะได้
16 x 800 = 12800 BTU หรือประมาณ 12000 BTU
"อยากซื้อแอร์?"
รับคำปรึกษาฟรี
ติดต่อเรา